วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Field Trip5

วันที่ 5
 
          เริ่มต้นเช้าวันใหม่กันที่ จ.สุโขทัย กับ "ข้าวเหนียวหมูห่อใบตอง"


"สรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง"



          เป็นทำนบที่ทำขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ มีท่อดินเผาใหญ่ต่อจากเขื่อนไปที่ตะพัง (เก็บน้ำ) ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี


"อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย"

วัดมังกร

          ส่วนกลางเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐโดยรอบ ประดับด้วยเครื่องสังคโลก ฐานขอบอาคารที่เหลือแสดงขอบเขต ตำแหน่งให้สันนิษฐานรูปลักษณะที่สมบูรณ์กันต่อไป




วัดมหาธาตุ

          เป็นวัดประจำแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัว วิหารหลวง มีเจดีย์บริวาร 8 องค์ ตามมุม 4 ด้านข้าง 4 ยอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศรีวิชัย และ ทรงพระปรางค์
          มีบ่อน้ำด้านหน้า เกิดเงาสะท้อนสวยงาม มีการเข้าถึงไล่ระดับจาก บ่อน้ำด้านหน้า กำแพงแก้ว วิหารราย ไปจนถึงวิหารประทานเชื่อมกับเจดีย์ประทานด้านใน








"วัดพระพรายหลวง"

          มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพระปรางค์ ซ้อนชั้นจนถึงชั้นบนสุดเป็นดอกบัว แสดงถึงความจริงแท้ ก่อสร้างโดยช่างจากนครวัด นครธม ด้วยศิลาแลง การตกแต่งเป็นคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ลวดลายเทพเจ้าต่างๆ
 



"วัดศรีชุม"

          เมื่อเข้ามาในวัดจะเกิดคำถามที่ว่า หลังคาของวัดศรีชุมเป็นอย่างไร แต่ตัวมณฑปมีลักษณะก่อกำแพงหนา บนกำแพงมีเพดานหินจำหลักจารึกพระเจ้า 500 ชาติ มีทางเดินสามารถเดินไปจนถึงยอดเจดีย์ได้ ด้านข้างมีต้นมะม่วง 6-7 ร้อยปี เป็นตัวเสริมเติมเสน่ห์และความศักดิ์สิทธ์ให้กับตัวโบราณสถาน



บรรยากาศภายในให้ความรู้สึกน่าเกรงขาม มีช่องระบายอากาศสำหรับทางเดินด้านใน


"วัดศรีสวาย"

          เป็นเจดีย์ทรงปราสาทสามองค์คล้ายลักษณะปราสาทแบบขอม วัสดุเป็นศิลาแลง ล้อมเทวสถาน เส้นแกนหันไปทางทิศเหนือ ตัวอาคารก่ออิฐ มีโถงมุกด้านหน้า เป็นโบราณสถานเปลือยเปล่าก่ออิฐเล็กใหญ่สลับกับศิลาแลง มีการเรียงอิฐหลายขนาด ลำดับการเข้าถึงตั้งแต่กำแพงเตี้ย ระยะซุ้มประตู กับศาสนสถานหรือพระปรางค์






"บ้านไม้วันนี้"





         บ้านไม้หลังนี้ ประทับใจตรงความมีระเบียบของ ช่องเปิด แต่เนื่องจากเป็นงานที่ชาวบ้านสร้างเองจึงทำให้ความเป็นระเบียบนั้น ไม่แข็งจนเกินไป


          ส่วนหลังนี้ อาจารย์จิ๋ว บอกว่าให้ดูที่ความต่อเนื่องของ space  เนื่องจากบ้านไม่มีประตูที่ชัดเจน จึงเห็นบรรยากาศเชื่อมต่อตั้งแต่ พื้นที่นั่งเล่นหน้าบ้านเข้า ยกระดับเข้าไปที่ส่วนโถงด้านใน

Field Trip4

วันที่ 4

          วันนี้อยู่ที่ จ.ลำปางเป็นวันสุดท้าย  เดินทางต่อไปที่จ. สุโขทัยเปลี่ยนจากกินข้าวซอยไปกินก๋วยเตี๋ยวกะผัดไทยแทนค่า

"วัดปงสนุก ( เหนือ-ใต้ )"



          ทางขึ้นมี 4 ทิศ มณฑปเป็นแบบล้านนา มีเจดีย์อยู่ด้านบน แบ่งเป็นวัดปงสนุกเหนือใต้ เป็นวัดพี่วัดน้องกัน ภายในมี "วิหารพระเจ้าพันองค์" ใช้ช่างพื้นเมืองบูรณะ หารูปแบบมาประดับตกแต่งให้สมบูรณ์ขึ้นโดยศึกษาจากลวดลายที่เหลืออยู่เดิม บูรณะด้วยวิธีปิดทองร่องชาติ


          เป็นการบูรณะตามลักษณะรูปแบบเดิม ด้วยการศึกษาอาคารในสมัยเดียวกันโดยการหาหลักฐานมาสนับสนุน รักษาภูมิปัญญาการเข้าตัวไม้ เนื่องจากหลังคาเป็นลักษณะ hip 3 ชั้น มีมุก 4 ทิศแต่ตัวหลังคาเป็นแบบแอ่นจึงเกิดช่องว่างเวลาเข้ามุม จึงมีการแก้ปัญหาหลังคาส่วนนี้โดยการเปลี่ยน slope ของสันหลังคา



          ภายในตัววิหารเป็นเรื่องราวของเขาพระสุเมรุ ส่วนกลางประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์หันหน้าออก 4 ทิศ เสาที่ล้อมอยู่เป็นเสาคู่รอบนอกเป็นเหลี่ยม รอบในเป็นเสากลม


"วัดศรีรองเมือง"



          ตอนที่ไปทางวัดปิดปรับปรุงอยู่ ลักษณะงานเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าแท้ๆ หลังคาเป็นแบบซ้อนชั้น แสดงถึงความเป็นศาสนสถาน หรือวัง มีการประดับประดาด้วยกระจก เสาและเพดานเป็นงานไม้ ด้านล่างทรงตึก หลังคาทรงไม้มีการตีฝ้าเพดานปิด


"บ้านไม้วันนี้"



          บ้าน เป็นสถานที่อยู่อาศัย เมื่อเราใช้ชีวิต ทำกิจวัตรประจำวันในบ้าน เช่น การทำกับข้าว การซักผ้า ตากผ้า จะเป็นตัวทำให้บ้านมีชีวิตขึ้นมา จากการต่อเติม หรือเปลี่ยนแปลงภาพให้เหมาะสมต่อการใช้งานมากขึ้น ร่องรอยจากการผ่านการใช้งานมานาน สื่อให้เห็นถึงกิจวัตรประจำวัน กับความชอบส่วนตัวของเจ้าของบ้านเอง


สวยงามค่ะ แสดงออกถึงรสนิยมของผู้อยู่อาศัย

Field Trip3

วันที่ 3

    "วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม"



          ทางเข้าสำคัญอยู่ด้านข้าง ถูกบังคับจากตัวอาคารที่ต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โบสถ์เล็กกว่าวิหารวางตัวเยื้องกันเกิด ลานด้านหน้าก่อนเข้าสู่ตัววิหาร



          หน้าจั่วไม้มีลักษณะแบบโชว์โครงสร้าง ปั้นปูนปิดประดับ มีการปิดปั้นลมประดับแบบ สิบสองปันนา เสาขนาบทางเข้ามีสิงห์ 2 ตัวผนังปูนเน้นทางเข้าสู่ตัววิหาร ลวดลายประดับมีหลายลักษณะ เป็นแบบเรขาคณิต ผนังเป็นลูกฟักโปร่งเพื่อประโยชน์ในการระบายอากาศและการนำแสงเข้าด้วยในตัว
          สิงห์ 2 ตัวบริเวณทางเข้าสร้างขึ้นทีหลังแต่สามารถเข้ากันได้ดี สังเกตว่าเสาตัวนอกที่ชิดริมอาคารจะเป็นเหลี่ยม เนื่องจากไม้หน้าบรรณเสียบไม่ลงตัวถ้าเป็นเสากลม


          ภายในวิหารเป็นลักษณะไม่ตีฝ้าเพดาน โชว์โครงสร้างหลังคาให้ความรู้สึกโอ่โถง โปร่งโล่ง ต่างจากภายนอกซึ่งให้ความรู้สึกค่อนข้างทึบ  เนื่องจากผนังเป็นลูกฟักโปร่งถ้าอยู่ภายในวิหารจะมีแสงเข้ามาทำให้เกิดความรู้สึกโล่ง  ต่างจากภายนอกซึ่งลูกฟักโปร่งนี้จะทำให้รู้สึกเป็นช่องเปิดเล็กและมืด


"วัดข่วงกอม อ. แจ้ซ้อน"



          อาคารวิหารแบบสมัยใหม่ที่มีการเสริมเทคนิควิธีแบบสมัยใหม่ คือ ล้านนา+สมัยใหม่แบบประเพณี เป็นอาคารประยุกต์แต่ล้อเลียนรูป form ล้านนาประเพณีที่ชัดเจน
          โครงสร้างเป็นไม้ ก่ออิฐ ภูมิทัศน์รอบด้านเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบล้านนา ลักษณะหมู่บ้านล้อมวัด กุฏิ และศาลาการเปรียญ มีการยกระดับทางเดินขึ้นทำให้กำแพงหินนั้น เมื่ออยู่ด้านนอกจะสูงกว่า ด้านในจะให้ความรู้สึกว่าเป็นกำแพงเตี้ยๆ ในลักษณะของการล้อมวัดทั่วไปไม่อึดอัด  แต่ถ้าอยู่ด้านนอกจะมองไม่เห็นวิหารภายใน กำแพงหินจึงทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยและให้ประโยชน์ด้านการเข้าถึงตัวอาคารในลักษณะความรู้สึกที่แตกต่างกันเมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาแล้ว



          มีการเปลี่ยนวัสดุเพื่อรับน้ำฝนจากหลังคาเนื่องจากพื้นเป็นลานทราย จะทำให้เกิดการเจิ่งนองของน้ำฝนและการยุบตัวของทราบ จึงมีการเปลี่ยนเป็นหินกรวดแทนเพื่อการไหลผ่านของน้ำและทำให้เดินได้สะดวกกว่าด้วย

          หลังจากกินข้าวเหนียวหมู ฟังบรรยาย เดินถ่ายรูป กันในวัด เรียบร้อยก็ถึงเวลาเดินสำรวจรอบหมู่บ้านค่ะ

ลานบ้าน ดงไผ่ รั้ว ลาน พืชผักสวนครัว ไม้ยืนต้นล้อมบ้าน

ลำเหมือง นาข้าว และสวนผัก บริเวณด้านหลังหมู่บ้าน



"บ้านไม้วันนี้"


    
          บ้านไม้เมื่อใช้อยู่อาศัยแล้วต้องมีการซ่อมแซมเรื่อยๆจึงเกิดลักษณะของการใช้วัสดุปิดผนังอย่างหลากหลาย เป็นความงามไปอีกแบบ นอกจากนี้จะมีการปลูกพืชผักสวนครัว หรือไม้ยืนต้นตามความต้องการของเจ้าของ มีประโยชน์สามารถเก็บกินได้ ก็ยังให้บรรยากาศร่มรื่นอีกด้วย

          วัสดุชนิดเดียวกัน อย่างไม้ไผ่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น เพิงไม้ไผ่ รั้ว ผนังบ้าน

Field Trip2

วันที่ 2

          เมื่อคืนพักกันที่จังหวัดลำปาง หลังจากไปดูเรือนแพเสร็จก็ตรงมาลำปางเลยถึงตอนดึกๆ ตื่นเช้ามาก็ได้กินข้าวซอยร้านโอมา ตรงหน้าที่พักอร่อยมาก กินอิ่มก็ออกเดินทางไปที่   "วัดไหล่หินหลวง อ. เกาะคา"


 
          วัดไหล่หินหลวง เป็นวัดที่เก่าที่สุดวัดหนึ่ง มีลักษณะปั้นลมแบบล้านนา ขอบเขตของกำแพงแก้วเตี้ยๆล้อมรอบวิหาร มีศาลาล้อมรอบวัด มีลักษณะของสัดส่วนแบบโบราณ แต่ตอนนี้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ๆในวัดโดยไม่ได้มีการถ่ายscale คือเป็นสัดส่วนแบบใหม่เข้ามาอยู่กับโบราณสถาน ทำให้ลดคุณค่าเดิมไป
          ด้านหน้าเป็นลานทราย กับร่มของต้นโพธิ์ใหญ่ ให้บรรยากาศร่มรื่น สงบ ถัดเข้าไปเป็นสิงห์ วิหารทรงโปร่ง วิหารคดกับซุ้มประตูนำเข้าสู่ตัววิหารด้านใน แสดงให้เห็นระยะที่เหมาะสมของบริบทโดยรอบไม่เข้ามาข่มหรือเบียดตัวอาคาร เกิดความกลมกลืนกันของทั้งสองสิ่ง

          บรรยากาศภายในเมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามา เป็นลานทรายล้อมรอบแต่มีการทำทางเดินด้านหน้านำสู่ตัววิหาร



          มีการแก้ปัญหาทางด้านโครงสร้างเพื่อให้เกิดความสวยงาม และ อารมณ์ความรู้สึก ถือเป็นงาน design ของแท้แสดงถึงภูมิปัญญาของช่างสมัยก่อนชัดเจนมาก เสาคู่หน้าพระประทานถูกตัดขื่อออก เพื่อไม่ให้บีบ space ขององค์พระ มีการตัดเสาคู่หน้าพระประทานออกเพื่อเปิด space ตรงกลาง เพื่อตอบสนอง function การเป็นพื้นที่กราบไหว้พระพุทธรูปจึงต้องการพื้นที่ค่อนข้างกว้างกว่าส่วนอื่น ส่วนเสาคู่หน้าพระประทานช่วยบีบให้พระประทานดูยิ่งใหญ่มากขึ้น มีการบีบคู่เสาเพื่อลดความกว้างของตัวหลังคาและเพิ่มความสูงของคู่เสา

"วัดพระธาตุลำปางหลวง"



          วัดพระธาตุลำปางหลวง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแบบโบราณ มีกำแพงแก้วผายออกมารับ public space เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับลานโล่ง บันไดสอบเข้าเป็นระยะๆ เมื่อเข้าไปด้านในพบกับมณฑปยอดแบบล้านนา ทิศใต้เป็นส่วนของลานทรายกับต้นไม้ใหญ่

                       เมื่อเข้าไปผ่านซุ้มประตูเจอระนาบของวิหาร บังคับทิศทางการมอง



          มีการประดับลวดลายแบบพอดีๆ เน้นคุณค่าการเล่น space แบบภายใน ภายนอก กับ space ที่ปิดล้อม
          ลวดลายด้านบนประตูเป็นธรรมจักร เล่นลวดลายเครือเถาแบบล้านนา เสาวิหารขนาบจบด้วยรวงผึ้ง เน้นเส้นแกนนำสายตาสู่องค์พระประทาน

"วัดปงยางคก"


          เมื่อเข้าไปแล้วสิ่งที่เห็นเด่นชัด คือ โบสถ์ใหม่กับวิหารเก่าวิหารเจ้าแม่จามเทวีที่ค่อนข้างแตกต่างกัน วิหารเก่านั้นเป็นวิหารโถง โชว์โครงสร้าง เห็นเส้นแบ่งของกลอนกับระแนง รายละเอียดของตัวระบบโครงสร้างมีการทำลวดลายกรุทุกชิ้น space หลังคาเป็นทั้ง decorate ทั้งโครงสร้างไปพร้อมกัน ไล่ลงมาด้านล่างเป็น form ผนังเรียบเกลี้ยง ถัดลงมาอีกเป็น space ที่มี form แบบเรขาคณิต



           ต้นตาลเป็นเส้นตั้ง กับ mass ใบของต้นโพธิ์ที่มีความละเอียด เกิดความ contrast กัน


"บ้านไม้วันนี้"


      
          มีการใช้งาน space ใต้ถุนตามลักษณะของเรือนไทยโบราณ เมื่อเข้าไปภายในก็มีการจัดเฟอร์นิเจอร์ตามการใช้งานจริง ส่วนของครัวอยู่ด้านหลังแยกออกจากตัวบ้านโดยการเปิดผนังออกเพื่อการระบายอากาศ


          บันไดเข้าบ้านแบ่งเป็น 2 ทาง คือ ทางด้านหน้าเข้ามาเจอกับห้องรับแขก อีกทางเข้าไปเจอกับบริเวณนั่งเล่นสำหรับครอบครัว ส่วนห้องนอนอยู่ลึกตามลำดับการเข้าถึงของทั้ง 2 ทาง  ส่วนของห้องน้ำแยกออกมาจากตัวบ้านเป็นโครงสร้างแบบก่ออิฐ บ้านไม้หลังนี้เข้าไปแล้วได้บรรยากาศของการอยู่อาศัยมาก มีการเล่นระดับค่อนข้างมากเพื่อเปลี่ยนความรู้สึก ตามพื้นที่การใช้งานจริง

Field Trip1

วันที่ 1
     
          เริ่มต้นที่อาการตื่นเต้นบวกกับอดนอนเล็กน้อย หลังจากการจัดกระเป๋าอย่างบ้าคลั่งเมื่อคืนกลัวลืมของเป็นที่สุดเนื่องจากเราจะไม่ได้พบกันอีกเป็นเวลา 9 วันเต็ม หลังจากทุกคนขึ้นรถเรียบร้อยพร้อมกะกล้องถ่ายรูปที่ต้องมีทุกคนก็ออกเดินทางจากลาดกระบังไปรับ อ.จิ๋วที่บ้าน และออกเดินทางไปจังหวัด ลำปาง โดยอาจารย์บอกว่าจะแวะที่จังหวัดอุทัยธานีก่อน



ระหว่างทางแวะถ่ายภาพ “ ท้องนาเขียวขจีค่า ”
          แวะกินข้าว หน้าวัด.... จังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากค่อนข้างหิวจัด หลังจากที่พี่แป๊ะปล่อยลงรถตรงไหน ก็หาร้านนั่งกินตรงนั้นเลยค่ะ แล้วพอกินอิ่มก็เดินไปเซเว่นซึ่งอยู่ค่อนข้างไกล ระหว่างทางก็เจอคุณตาท่าทางใจดี ถามว่าเรามาเที่ยวก็เหรอ เคยมาจังหวัดอุทัยธานีรึเปล่า และแล้วคุณตาก็ทำท่าจะเล่าประวัติจังหวัดอุทัยธานีให้ฟัง แต่เนื่องจากค่อนข้างรีบ จึงกล่าวขอบคุณและอำลาคุณตาออกมาก่อน


หลังจากอิ่มหนำสำราญก็พร้อมทำงานเต็มที่ ที่แรกที่ไปดูคือ "บ้านเรือนแพ"
          ในสมัยก่อนมีการค้าขายโดยคมนาคมทางน้ำ ขนส่งข้าวด้วยเรือนแพมาทางแม่น้ำจากภาคกลาง และเมื่อขายข้าวได้เงินก็น้ำมาซื้อของจากตลาดน้ำกลับไปภาคกลางด้วย เช่น ปลาแห้ง จึงมีการสร้างบ้านเป็นลักษณะเรือนแพเพื่อเป็นทั้งที่พักอาศัยและค้าขาย


          บริเวณใกล้เคียงมี “ป่าไผ่” เพื่อนำต้นไผ่มาใช้ซ่อมแซมแพ มีสวนน้ำหน้าบ้านเป็นลักษณะกระชัง ปลูกผักกระเฉด เตย หรือเลี้ยงปลา


          เรือนแพโบราณ ลักษณะการวางผังแบบเก่าแก่ แต่มีการเปลี่ยนจากเหงา เป็นการฉลุไม้แบบเรือนขนมปังขิงแล้ว มีการอยู่รวมกันเป็นหมู่เรือนหลายๆหลัง มีเรือนหนึ่งทำหน้าที่เป็น ศาลาวัด คือ ไม่ต้องไปถึงวัด ก็สามารถจัดพิธีศพได้


          ตัวเรือนด้านหน้ามีลักษณะสามารถเปิดได้โล่ง บานประตูเป็นบานเฟี้ยมด้านข้างเป็นห้องครัว ส่วนด้านในเป็นห้องนอน ห้องพระ มีประตูเปิดทะลุออกไปด้านหลังมีเรือนแยกไปอีก 2 เรือน คือ ห้องน้ำ กับห้องเก็บของ

    
          “ขาตุ๊กตา” ยาวลงประมาณ 3 เมตร ทำหน้าที่รัดลูกบวบ ก่อนที่จะวางคานลงไปอีกที